top of page

ดีไซน์สุขภาพด้วย ‘Design Thinking’



  • Design Thinking’ ว่าด้วยหลักการคิดแก้ปัญหาทางธุรกิจ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลักคือ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test และไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับการแก้ปัญหาทางธุรกิจ แต่เป็นหลักคิดที่ใช้ได้กับหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะการดูแลสุขภาพ ปัญหาในที่ทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาหัวใจ


สำหรับคนที่อยู่ในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านที่เกี่ยวกับ Innovation คงจะคุ้นเคยดีกับหลักการคิดแก้ปัญหาแบบ ‘Design Thinking’ แต่สำหรับหมอนั้น เพิ่งจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เริ่มจากการอ่านหนังสือ ซึ่งก็อ่านแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ไม่ค่อยเข้าถึงใจเท่าไร จึงพยายามไปเรียนและพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ จนเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้าถึงใจเท่าไร จวบจนกระทั่งในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ที่ได้ลองนำ Design Thinking มาปรับใช้กับตัวเองในการดูแลสุขภาพ และพบว่าได้ผลดีไม่น้อย จึงเป็นที่มาของบทความนี้ค่ะ



‘Design Thinking’ เป็นหลักสูตรดังของ Stanford d. School ซึ่งเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2005 ว่าด้วยหลักการคิดแค่ปัญหาทางธุรกิจซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลักคือ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test

‘Empathize’ คือการพยายามสังเกต รับฟัง และเข้าใจ ในแบบที่เข้าไปถึงหัวใจของคนที่เราต้องการแก้ปัญหาให้ว่าเขารู้สึกอย่างไรในเบื้องลึกของจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก ควรต้องเริ่มจากเข้าใจตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากลด รู้สึกอย่างไรกับปัญหาน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ที่กำลังเผชิญอยู่ หรือมีความกังวลใจอย่างไรบ้างกับการลดน้ำหนัก

เมื่อเข้าใจปัญหาและความกังวลในใจแล้ว จึง ‘Define’ ปัญหาว่าที่ผ่านมาลดได้ไม่สำเร็จเพราะอะไร Pain Points หรือจุดที่ทำให้เราพ่ายแพ้ต่อความอ้วน คืออะไร ทำความเข้าใจกับปัญหาแต่ละข้ออย่างละเอียด สองขั้นตอนแรกนี้เป็นขั้นสำคัญที่ควรให้เวลาค่อนข้างมาก เพราะถ้าเราตั้งต้นผิด ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร จะไม่มีทางแก้ปัญหานั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเข้าใจว่า ลดน้ำหนักไม่สำเร็จเพราะการเผาผลาญไม่ดี ทั้งที่จริงๆ แล้วความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากขาดแรงบันดาลใจในการลด การตั้งต้นด้วยความเข้าใจหัวใจและความต้องการที่แท้จริงของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก


ขั้นตอนต่อมาคือ ‘Ideate’ หรือระดมไอเดียว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไรดี เช่น เมื่อพบว่าปัญหาการลดน้ำหนักไม่สำเร็จนั้น เกิดจากขาดความตั้งใจจริง ขาดแรงบันดาลใจ ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการหาวิธีที่จะกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจกับตัวเองให้ได้ โดยควรเปิดกว้างที่จะกล้าคิดทุกวิธี โดยอย่าเพิ่งตีกรอบว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อได้ไอเดียมากพอ จึงค่อยนำมาจัดลำดับความสำคัญว่าไอเดียไหนที่ควรจะนำมาทดลองก่อน

เมื่อได้ไอเดียที่คิดว่ามีความเข้าท่าที่จะแก้ปัญหาได้ จึงนำไอเดียนั้นมาทำ ‘Prototype’ หาวิธีที่ง่ายที่สุดในการพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นเวิร์กไหม โดยออกแบบวิธีทดสอบที่ง่ายที่สุดที่จะเป็นไปได้ แล้วทำการ ‘Test’ หรือทดสอบอย่างรวดเร็ว ถ้าทดสอบแล้วพบว่ามาผิดทาง ก็แค่ย้อนกลับไปเริ่มคิดแก้ปัญหาใหม่ การแก้ปัญหาในแบบ Design Thinking นั้นเน้น ‘ทำ’ มากกว่า ‘พูด’ เพราะการทดสอบโดยการทำเลย(แต่อยู่ภายใต้การออกแบบให้เร็วและสูญเสียน้อยที่สุด) จะเป็นตัวบอกเราได้ว่าวิธีที่คิดนั้นถูกหรือไม่ โดยไม่ต้องกลัวที่จะล้มเหลว เพราะยิ่งล้มเร็ว ลุกเร็ว เราก็จะยิ่งเรียนรู้เร็วและพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม

ส่วนตัวหมอเชื่อว่า Design Thinking ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับการแก้ปัญหาทางธุรกิจ แต่เป็นหลักคิดที่ใช้ได้กับหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะการดูแลสุขภาพ ปัญหาในที่ทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาหัวใจ เพราะทุกปัญหาเริ่มจากเข้าใจแก่นของปัญหาก่อน แล้วค่อยนำมาสู่การระดมความคิดแบบไม่ปิดกั้น ออกแบบวิธีแก้ปัญหา และทดสอบวิธีการนั้นๆ โดยอย่าเพิ่งกลัวว่าจะล้มเหลว เรามาลองเป็น ‘Designer’ ดีไซน์สุขภาพ รวมไปถึงดีไซน์ชีวิต ด้วยหลักคิดแบบ Design Thinking กันค่ะ


บทความต้นฉบับ : https://thestandard.co/healthcare-design-thinking/


793 views0 comments

Comentarios


bottom of page