แนวคิด Design Thinking คือการร่วมระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาี่ซับซ้อนโดยยึดหลักผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพื่อออกแบบสินค้า บริการ ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้จริง โดยใช้ 4 ขั้นตอนสำคัญในการออกแบบคือ
Discover ทำความเข้าใจผู้บริโภคเพื่อมองเห็นถึงปัญหา
Define คัดกรองและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องการจะแก้ไข
Develop ระดมไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหา
Deliver นำไอเดียที่ดีที่สุดไปพัฒนาต่อ และทดลองใช้
แนวคิดดังกล่าวจะช่วยพัฒนาธุรกิจของคุณให้ดีขึ้นด้วยไอเดียของคนหลายๆ คนที่นำมาตกผลึกร่วมกัน เหมาะกับธุรกิจประเภทบริการ หรือสตาร์ทอัพ
ต้องบอกว่าในยุคเทคโนโลยีแบบนี้มักจะมีเรื่องราวใหม่ให้เราได้ศึกษาหรือติดตามกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Data Science หรือ Blockchain และอีกหนึ่งชื่อที่หลายคนมักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆนั่นก็คือ “Design Thinking” วันนี้ เพียร์ พาวเวอร์ จะพาคุณมารู้จักกับแนวคิดดังกล่าว เพื่อหาคำตอบว่าทำไมแนวคิดนี้ถึงเป็นที่นิยม และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างไรบ้าง
Design Thinking คืออะไร?
คือ การออกแบบความคิด เพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน โดยยึดหลักผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และระดมไอเดียจากหลากหลายความคิดและหลากหลายมุมมอง มาพัฒนาและแก้ไขปัญหานั้นๆ เพื่อให้ได้สินค้า บริหาร หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานมากที่สุด เป็นการหยิบปัญหา ในด้านต่างๆ ทั้งความรู้สึกและประสบการณ์จากผู้ใช้ มาออกไอเดียเพื่อแก้ไข หรือพัฒนาให้ตอบโจทย์กับความต้องการกับผู้ใช้งานมากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้คำนึงถึงความรู้สึก หรือประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก มองหาปัญหา และเริ่มแก้ไข
เพราะ สิ่งที่เข้าใจยากที่สุดก็คือ “มนุษย์” โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถหยั่งรู้ความคิดของทุกคนได้ และการจะออกแบบสินค้าหนึ่งเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการกับผู้ใช้งานทุกคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย Design Thinking จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหานี้
มารู้จักกระบวนการและแนวคิดของ Design Thinking กัน
ความจริงแล้วนี้เป็นแนวคิดที่มีใช้กันมานานแล้วในกลุ่มของนักออกแบบ มีตำราเขียนลงบันทึกจากหลากหลายสำนักซึ่งก็อาจจะมีความกระบวนการหรือแนวคิดที่แตกต่างกันบ้าง วันนี้ เพียร์ พาวเวอร์ ขอหยิบแนวคิด ดังกล่าวแบบ Double Diamond มาอธิบายให้คุณเข้าใจกัน การออกแบบตามแนวคิดนี้ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน
1. Discover
เป็นช่วงที่ต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานและเริ่มต้นค้นหาสาเหตุของปัญหา โดยระดมความคิดและจินตนาการว่า ถ้าหากเราเป็นผู้ใช้งานจะต้องเจอกับเหตุการณ์ใดบ้างที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการใช้งาน อาจใช้ User Persona หรือ Marketing Persona เข้ามาช่วยเพื่อให้เข้าใจปัญหาจากการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ชัดเจนมากขึ้น หรืออาจจะเริ่มเขียน Journey Map หรือแผนผังเส้นทางตั้งแต่การเริ่มต้นใช้งานไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการใช้บริการขึ้นเพื่อให้เข้าถึงทุกช่วงอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้เพื่อให้เห็นถึงปัญหาให้ได้มากที่สุด
2. Define
หลังจากที่คุณค้นพบปัญหาจากผู้ใช้งานแล้ว ต้องยอมรับว่าบางครั้งนั้นคุณก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ ในขั้นตอนนี้คุณจำเป็นที่จะต้องเลือกและคัดกรองปัญหาที่มีความสำคัญเพื่อ หยิบมาแก้ไขและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
3. Develop
หลังจากที่คุณตัดสินใจเลือกปัญหาที่ต้องการจะแก้ไขแล้ว ส่วนนี้คือขั้นตอนที่ทุกคนควรจะระดมสมอง ใส่ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเน้นวิธีที่หลากหลายและไม่ปิดกั้นความคิดฝึกการคิดนอกกรอบ หรือต่อยอด เพื่อให้ได้วิธีการแก้ปัญหาที่มากที่สุด แต่ยังเน้นการโฟกัสที่การแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องที่เลือกมาเท่านั้น
4. Deliver
หลังจากที่ทราบทั้งสาเหตุของปัญหา ในขั้นตอนที่ 1 เลือกปัญหาที่จะโฟกัสเพื่อมาแก้ไขในขั้นตอนที่ 2 และ ระดมไอเดียเพื่อหาทางแก้ไขในขั้นตอนที่ 3 แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายนั้นคือการเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่คิดว่าดีที่สุด และสามารถจะตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด และ นำวิธีการนี้ไปทำเป็นแบบจำลอง หรือ ไปทดสอบกับผู้ใช้จริง หรือดำเนินการเพื่อให้การพัฒนานี้ไปถึงผู้ใช้อย่างแท้จริง
เคล็บลับง่ายๆ ในการทำความเข้าใจ Design Thinking แบบ Double Diamond นั้นก็คือ จำนวนปัญหา หรือ ไอเดียที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนนั้นควรจะสัมพันธ์กับรูปทรงของ สี่เหลี่ยมทรงไดม่อนที่มีความสูงที่เพิ่มขึ้นและลดลงตามขั้นตอนในแต่ละช่วง
หลังจากที่ดำเนินการจบไปแล้ว 4 ขั้นตอน ยังควรที่จะเก็บผลลัพธ์และหาข้อบกพร่องเพื่อนำมาพัฒนาต่อ และยังสามารถกลับมาทำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับผู้ใช้
Comments